องค์ประกอบการดำเนินการ BRIEF INTERVENTION
ต้องมีองค์ประกอบ 6 ข้อซึ่งสามารถเขียนเป็นตัวย่อได้ว่า FRAMES( Feedback, Responsibility, Advice, Menu of ways, Empathy, Self-Efficacy) นอกจากนั้นควรกำหนดเป้าหมาย (goal setting) การติดตามการรักษา (follow up) และการให้การรักษาในเวลาที่เหมาะสม (timing) ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ brief intervention ได้ผลดีด้วย ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีการของ brief intervention ในแต่ละองค์ประกอบ
FEEDBACK OF PERSONAL RISK เมื่อจะเริ่มต้นการบำบัด แพทย์ควรจะบอกให้ผู้ป่วยทราบถึงความเสี่ยงของปัญหาจากแอลกอฮอล์ที่ผู้ป่วยมี โดยประมวลจากลักษณะการดื่มในปัจจุบัน ผลการตรวจร่างกายและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น แพทย์อาจจะบอกผู้ป่วยว่าปัญหาการเจ็บป่วยในปัจจุบันของเขา เช่น ความดันเลือดสูงอาจจะเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์ของเขาด้วยก็ได้ หรือการดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างที่เขาเป็น
RESPONSIBILITY OF THE PATIENT วิธีการ brief intervention จะเน้นถึงความรับผิดชอบของผู้ดื่มในการเลือกวิธีการและลดการดื่มลง ทั้งนี้อาศัยหลักว่าการควบคุมตนเองเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม เช่น แพทย์หรือพยาบาลอาจจะบอกผู้ดื่มว่า “คงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงคุณได้หรือทำให้คุณตัดสินใจเปลี่ยนแปลงได้ การที่คุณจะลดหรือเลิกดื่มขึ้นอยู่กับตัวเอง
ADVICE TO CHANG แพทย์ควรจะให้คำแนะนำอย่างชัดเจนถึงวิธีลดหรือเลิกดื่ม หรือในขณะที่พูดแสดงความห่วงใยถึงการดื่มของผู้ป่วยแพทย์หรือพยาบาลอาจจะ อธิบายถึงการดื่มแบบพอประมาณหรือความเสี่ยงต่ำไปด้วย
MENU OF WAYS แพทย์หรือพยาบาลอาจจะนำเสนอวิธีการต่างๆ สำหรับลดหรือเลิกดื่มให้ผู้ป่วยเลือก เช่น การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่จะดื่ม การเรียนรู้ที่จะรู้จักว่าเมื่อไรจะต้องดื่มและหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง ที่ทำให้ต้องดื่มมาก การวางแผนล่วงหน้าที่จะจำกัดการดื่ม การชะลอการดื่มให้ช้าลง เช่น ค่อยๆ จิบ ผสมให้เจือจาง หรือเว้นช่วงนานหลังดื่มแต่ละครั้ง และการเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาในชีวิตประจำวันซึ่งอาจจะทำให้ดื่มแพทย์ อาจจะทำคู่มือแนะนำเกี่ยวกับการลดหรือเลิกดื่มสุราด้วยตนเองสำหรับแจกให้กับ ผู้ป่วย ซึ่งในคู่มือก็มักจะมีสมุดบันทึกประจำวันสำหรับบันทึกการดื่มของเขาด้วย
EMPATHETIC COUNSELING STYLE วิธีการให้ brief intervention ควรทำด้วยท่าทีที่อบอุ่น เข้าใจและใช้การสะท้อนกลับความคิดหรืออารมณ์ของผู้ป่วยจะได้ผลดีกว่าการใช้ ท่าทีที่แข็งกร้าว หรือต้อนให้จนมุม
SELF-EFFICACY OR OPTIMISM OF THE PATIENT แพทย์ควรจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยเห็นถึงความสามารถของตนเองในการที่จะทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลง และให้มองตนเองในแง่ดีว่าตนเองมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่ม ของตน
ESTABLISHING A DRINKING GOAL ผู้ป่วยมักจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มของเขาได้สำเร็จถ้าเขามีส่วนร่วมใน การกำหนดเป้าหมายของการลดหรือเลิกดื่มของเขาเอง ผู้รักษาอาจจะให้ผู้ป่วยเขียนเป้าหมายในการเลิกหรือลดการดื่มของเขาไว้ และใช้เป็นประหนึ่งสัญญาระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วย
FOLLOW-UP ผู้รักษาจะติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยต่อไปโดยอาจจะเป็นการนัดให้ผู้ป่วยมาพบเป็นระยะๆ หรือโทรศัพท์ถามอาการก็ได้
TIMING การทำ brief intervention จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การดื่มของเขา ผู้ป่วยอาจจะไม่พร้อมที่จะลดหรือเลิกดื่มในตอนต้นเมื่อเริ่ม brief intervention แต่อาจจะพร้อมเมื่อเขาได้เจอกับปัญหาจากการดื่มของเขา ดังนั้นก่อนเริ่มรักษาแบบ brief intervention ผู้รักษาจึงควรประเมินดูความพร้อมของผู้ป่วยก่อนและเลือกวิธีการรักษาให้ เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย
ขั้นตอนของ BRIEF INTERVENTION
หลักการของ brief intervention ที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปสามารถทำได้ในระหว่างการตรวจรักษาตามปกติ เพื่อที่จะช่วยค้นหาและให้คำแนะนำผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราตั้งแต่ในระยะ แรก
1. การถาม (ASK) สำหรับผู้ป่วยทุกคนที่มาพบแพทย์ ควรจะถามว่าเขาดื่มสุรา เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ในผู้ป่วยที่ดื่มสุรา ควรจะถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มของเขา ได้แก่ ปริมาณและความถี่ในการดื่ม รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากการดื่มของเขา เช่น การดื่มคนเดียว ดื่มเวลาใด การดื่มเคยมีผลต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชีวิตประจำวันหรือไม่ เช่น ทำให้ไปทำงานสาย ขาดงาน ครอบครัวรู้สึกเป็นห่วง ลืมสิ่งที่ได้ทำหลังจากดื่มสุรา ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มได้ หรือมีอาการไม่สบายต่างๆ หลังจากการดื่มสุรา
2. . ประเมินปัญหาจากการดื่มสุราของผู้ป่วย (ASSESS) โดยให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถาม AUDIT หรือจากการซักถามผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยให้แบ่งผู้ที่มีปัญหาจากสุราได้ 3 กลุ่ม
2.1 ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการดื่มสุรา (hazardous drinking) ได้แก่ ผู้ที่ดื่มในปริมาณที่มากกว่าปกติ หรือดื่มในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ในสตรีมีครรภ์ หรือผู้กำลังจะขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักร หรือผู้ที่มีประวัติส่วนตัวหรือประวัติครอบครัวของปัญหาจากการดื่มสุรา ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรจะถามลักษณะพฤติกรรมการดื่ม เช่น ดื่มปริมาณนี้มานานเท่าไหร่ ดื่มหนักสัปดาห์ละกี่ครั้ง เคยดื่มมากที่สุดประมาณเท่าไหร่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และถามประวัติส่วนตัว และประวัติครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม
2.2 ผู้ที่ปัญหาจากการดื่มสุราแล้ว (harmful drinking) คือ ผู้ที่เคยมีผลเสียของการดื่มข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีลักษณะทางร่างกายหรือพฤติกรรมที่แสดงว่ามีปัญหาจากการดื่มสุราแล้ว เช่น มีรอยแผลจากอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์ควรจะถามผู้ป่วยเกี่ยวกับปัญหาทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา เช่น blackouts (จำสิ่งที่เกิดขึ้นขณะดื่มสุราไม่ได้) ปวดท้องเรื้อรัง ซึมเศร้า ความดันเลือดสูง อุบัติเหตุ การทำงานของตับผิดปกติ สมรรถภาพทางเพศผิดปกติ หรือมีปัญหาในการหลับนอน
2.3 ผู้ที่น่าจะติดสุราแล้ว เป็นผู้ที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะติดสุรา สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น ไม่สามารถจะหยุดดื่มได้เมื่อได้เริ่มต้นดื่มไปแล้วต้องดื่มเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้รู้สึกดีเท่าเดิม เคยมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะต้องดื่มสุราให้ได้ เคยต้องเปลี่ยนแปลงแผนการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้ดื่มสุราเคยต้องดื่มตอนเช้าเพื่อที่จะแก้อาการมือสั่น
3 .ให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย (ADVICE) ด้วยท่าทีที่อบอุ่น เป็นมิตร และเข้าใจผู้ป่วย เริ่มต้นจากการบอกผู้ป่วยว่าแพทย์รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการดื่มสุราของเขา พยายามพูดให้จำเพาะเจาะจงถึงลักษณะการดื่มของผู้ป่วยและปัญหาต่อสุขภาพของ เขา อาจจะชี้ให้ผู้ป่วยเห็นว่าการดื่มสุราของเขาอาจจะมีส่วนให้เขามีอาการทาง ร่างกายต่างๆ เช่น ความดันเลือดสูง รวมทั้งถามด้วยว่าผู้ป่วยรู้สึกอย่างไรกับการดื่มของเขา เพื่อประเมินความรู้สึกและการรับรู้ของผู้ป่วยต่อปัญหาของตนเอง รวมทั้งความคิดที่จะลดหรือเลิกดื่ม แพทย์ควรตกลงร่วมกับผู้ป่วยถึงแผนการปฏิบัติตนของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติตนของตัวเอง โดยเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ป่วยเอง ไม่ใช่ของแพทย์ผู้รักษา รวมทั้งเสนอแนะมาตรการต่างๆ ให้ผู้ป่วยใช้ในการควบคุมการดื่ม เรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่พึ่งการดื่มสุรา
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะติดสุรา และมีประวัติว่าพยายามจะลดการดื่มลงหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนจะมีบุตร หรือมีข้อห้ามทางสุขภาพหรือใช้ยาอื่นที่ทำให้ดื่มสุราไมได้ แพทย์ควรจะแนะนำให้หยุดหรือเลิกดื่มเลย ส่วนผู้ที่ดื่มในระดับ hazardous หรือ harmful drinking และยังไม่มีภาวะติดสุรา แพทย์อาจจะแนะนำให้ลดปริมาณการดื่มลงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย หรือ responsible drinking อาจจะไม่จำเป็นต้องเลิกดื่มโดยเด็ดขาดก็ได้ สำหรับผู้ติดสุราที่ยังไม่พร้อมจะเลิกดื่ม อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง แนะนำให้ผู้ป่วยคุยกับครอบครัวของเขาเกี่ยวกับคำแนะนำต่างๆ ที่แพทย์ให้ไป และนัดให้เขามาพบอีกพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวของเขา
4.ดูแลติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยทุกครั้งที่ผู้ป่วยมาพบ แพทย์(MONITOR) บอกให้ผู้ป่วยทราบถึงแผนการดูแลติดตามรักษา ย้ำว่าแพทย์พร้อมเสมอที่จะให้คำแนะนำและ ความช่วยเหลือผู้ป่วยเสมอ ชมผู้ป่วยในความพยายามที่ได้ทำไป ชี้ให้ผู้ป่วยเห็นว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านดีขึ้น เช่น สุขภาพดีขึ้น หน้าตาสดชื่นแจ่มใส การทำงานและหน้าที่ต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมทั้งครอบครัวก็มีความสุขมากขึ้น เป็นต้น และประเมินความตั้งใจของผู้ป่วยที่จะลดหรือเลิกดื่มต่อไป อาจจะต้องนัดผู้ป่วยบางรายที่ต้องการการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นหรือใช้เวลานาน ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ และอาจจะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยบางรายไปรับการรักษาเฉพาะทาง หากจำเป็นต้องรับการดูแลรักษาที่มากเกินกว่าที่แพทย์จะทำได้ในคลินิกเวช ปฏิบัติทั่วไป
http://www.thaiantialcohol.com/cms/contents/view/8